Last updated: 30 ก.ค. 2562 | 1757 จำนวนผู้เข้าชม |
7 ขั้นตอนการเลือกบรรจุภัณฑ์ ให้โดนใจ ยอดขายปัง
เลือกบรรจุภัณฑ์ยังไงดี ให้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ของเราเป็นสิ่งที่มองข้ามได้ และควรให้ความสำคัญไม่แพ้กับขั้นตอนอื่น ๆ เพราะ หน้าที่สำคัญที่สุดของบรรจุภัณฑ์นอกจากเป็นสิ่งที่ปกป้องสินค้าของเราให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แล้ว บรรจุภัณฑ์ยังทำหน้าที่เป็นภาพลักษณ์ของสินค้า สร้างความแตกต่างเพื่อดึงดูดลูกค้าให้หันมาใช้สินค้าของเราอีกด้วย โดยบรรจุภัณฑ์สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะคือ
1.บรรจุภัณฑ์ขั้นแรก (Primary Packaging) หมายถึงบรรจุภัณฑ์ขั้นสุดท้ายที่เป็นภาชนะบรรจุหรือห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ เช่น กระปุกใส่ครีม ขวดโลชั่น ขวดเซรั่ม เป็นต้น
2.บรรจุภัณฑ์ขั้นที่สอง (Secondary Packaging) หมายถึงบรรจุภัณฑ์ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์ขั้นแรก เช่น กล่องใส่ครีม กล่องใส่โลชั่น เป็นต้น
3.บรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่ง (Shipping Packaging) หมายถึงบรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้า เช่น ลังบรรจุ เป็นต้น
ซึ่งการเลือกกล่องบรรจุภัณฑ์แต่ละแบบนั้นก็มีหน้าที่และจุดประสงค์ที่แตกต่างกันออกไปทีนี้เราลองมาดูวิธีและปัจจัยในการเลือกบรรจุภัณฑ์กันว่า การเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ดีควรมีอะไรบ้าง
1. หากลุ่มเป้าหมาย และภาพลักษณ์ของแบรนด์
การหากลุ่มลูกค้าของแบรนด์จะมีส่วนช่วยอย่างมากในการออกแบบและดีไซน์บรรจุภัณฑ์เพื่อให้ดึงดูดให้กลุ่มเป้าหมายมาซื้อสินค้าของเรา โดยเราจะต้องศึกษาถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น รสนิยม, พฤติกรรมการซื้อ, ปริมาณการซื้อ, วิธีการนำไปใช้, วิธีเก็บรักษา เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องคำนึงของภาพลักษณ์ของแบรนด์ด้วยว่าอยากให้เป็นไปในทิศทางไหน เพื่อออกแบบให้ตรงจุดประสงค์ของแบรนด์มากที่สุด
2. เลือกจากลักษณะของสินค้า
ก่อนเราจะเลือกบรรจุภัณฑ์ เราจะต้องดูลักษณะของสินค้าของเราก่อนว่ามีทางด้านกายภาพและทางด้านเคมีมีลักษณะเป็นเช่นไร เช่น ถ้าสินค้าของเราเป็นของเหลว อาทิเช่น เซรั่ม หรือครีมที่มีความเหลวมาก ๆ อาจจะต้องบรรจุในหีบห่อลักษณะขวด หรือหากมีความหนืดเพียงพอออาจะเลือกเป็นแบบกระปุกเป็นต้น หรือสินค้าที่มีเคมีลักษณะพิเศษอาจจะต้องเลือกบรรจุภัณฑ์ที่รองรับสินค้าประเภทนั้น ๆ เป็นต้น
3. ดูลักษณะการนำไปใช้งาน
บรรจุภัณฑ์ที่ดี นอกจากควรจะจะมีรูปลักษณ์การออกแบบที่สวยงามน่าใช้แล้ว ยังต้องมีฟังก์ชั่นที่ใช้งานด้วย ถ้ามัวแต่สวยอย่างเดียวแต่ใช้ยาก ก็เป็นการยากที่จะดึงดูดลูกค้าให้ตัดสินใจซื้อมาใช้ หรือกลับมาใช้ต่อ ดังนั้นบรรจุภัณฑ์จะต้องออกแบบมาให้ใช้งานได้สะดวกและง่ายต่อการใช้ เช่น การเปิด-ปิด การจัดเก็บ การหยิบจับขณะใช้งาน
4.เลือกวัสดุที่จะนำมาใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์
การเลือกวัสดุบรรจุในส่วนนี้ หลังจากที่เรารู้แล้วว่าลักษณะของสินค้าเราเป็นอย่างไรการเลือกวัสดุที่เขากับสินค้าของเราโดยหลัก ๆ แล้วจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกันได้แก่
-แก้ว เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีทั้งชนิดโปร่งใสและโปร่งแสง ซึ่งสามารถป้องกันการซึมผ่านของก๊าซ, น้ำ,กลิ่น ได้ สามารถทนแรงอัดอากาศได้และไม่ทำปฏิกิริยากับสินค้าที่บรรจุอยู่ภายใน สามารถทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีกลิ่น และสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นวัสดุที่ค่อนข้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่มีข้อเสียคือ มีความเปราะบางและแตกหักง่ายและมีน้ำหนักค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์ชนิดอื่น ๆ
-กระดาษ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีน้ำหนักเบา ราคาถูก สามารถใช้งานได้สะดวกเนื่องจากสามารถพับเก็บได้ทำให้ประหยัดเนื้อที่ในการจัดเก็บ สาามารถใช้กับสินค้าได้หลายประเภท อีกทั้งยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นวัสดุที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ แต่มีข้อเสียคือ ไม่ทนความชื้นและแมลงกัดแทะ
-โลหะ เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีความแข็งแรง สามารถทนความร้อนและแรงดันได้สูง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่มีข้อเสียคือ อาจเกิดปฏิกิริยากับสินค้าที่บรรจุได้ กัดกร่อนได้ง่าย และใช้พื้นที่ในการจัดเก็บมาก
-พลาสติก เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีหลายชนิด สามารถใช้งานได้หลากหลาย มีราคาถูก สามารถขึ้นรูปได้ง่ายและขึ้นรูปได้หลายรูปแบบ แต่มีข้อเสียคือไม่ค่อยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพราะย่อยสลายได้ยาก
5.ความคงทนของบรรจุภัณฑ์
เป็นอีกจุดหนึ่งที่สำคัญเพราะเรียกได้ว่าเป็นหน้าที่หลักของบรรจุภัณฑ์ที่จะต้องปกป้องสินค้าให้ปลอดภัย ไม่เกิดความเสียหาย หากบรรจุภัณฑ์ของเราไม่มีความแข่งแรงคงทนพอนอกจากอาจจะเกิดความเสียหายระหว่างขนส่งแล้วการใช้วัสดุที่ไม่คงทนและไม่มีคุณภาพยังลดความน่าเชื่อถือของสินค้าลงไปด้วย ทำให้โอกาสที่ลูกค้าจะตัดสินใจกลับมาซื้อใหม่น้อยลงไปด้วยนั่นเอง
6.การเก็บรักษาสินค้า
นอกจากสินค้าจะต้องมีความคงทนแล้ว บรรจุภัณฑ์ยังต้องเก็บรักษาสินค้าให้อยู่ในสภาพดีและคงคุณภาพไว้ด้วย ในส่วนนี้อาจจะต้องคำนึงถึง อุณหภูมิ ความชื้น หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อการเก็บรักษา ทั้งนี้รวมไปถึงระยะเวลาในการเก็บรักษา ที่จะต้องนำมาพิจารณาว่าควรจะเลือกบรรจุภัณฑ์และการจัดเก็บประเภทในที่จะรักษาและคงคุณภาพสินค้าไว้ให้นานที่สุด หรือตามระยะเวลาที่กำหนด
7.ราคาของบรรจุภัณฑ์
เป็นปัจจัยที่สำคัญและไม่ควรละเลย เพราะราคาของบรรณจุภัณฑ์นั้นรวมเข้าไปในต้นทุนด้วย ยิ่งต้นทุนสูง กำไรยิ่งน้อย แต่ถ้าหากเราลดต้นทุนในส่วนนี้มากเกินไปก็อาจส่งผลต่อสินค้าและยอดขายได้ ดังนั้นจึงควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่มีคุณสมบัติครอบคลุม สวยงาม และเหมาะสม รวมไปถึงมีราคาที่สมเหตุสมผลไม่แพงจนเกินไปด้วย
18 ธ.ค. 2562
14 ม.ค. 2563
29 ม.ค. 2563